มิงกะลาบา สวัสดีค่ะกลับมาพบกันอีกแล้วหลังจากห่างหายไปนาน สำหรับตอนนี้ชะนีแคระได้มีโอกาสเดินทางไปเที่ยวประเทศเมียนมา หรือพม่า ประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์เต็มๆกันนะคะ โดยทริปนี้จะแบ่งการเดินทางออกเป็นไปเที่ยวเมืองมัณฑะเลย์ (Mandalay)เป็นเวลา 3 วัน 3คืน และแวะเที่ยวเมืองพุกาม หรือ Bagan เป็นเวลา 4 วัน 3 คืนกันค่ะ เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลาหวังว่าทุกคนคงจะพร้อมกันแล้วเราออกเดินทางไปพร้อมกับชะนีแคระได้เลยค่ะ
เมืองมัณฑะเลย์ (Mandalay) เป็นอดีตเมืองหลวงเก่าของประเทศเมียนมา และเป็นเมืองที่มีความสำคัญเป็นอันดับสามของประเทศรองจากเมืองย่างกุ้ง และเนร์ปิดอ มัณฑะเลย์ตั้งอยู่ทางตะวันออกของแม่น้ำอิระวดีเป็นเมืองท่าและมีธรรมชาติที่สมบูรณ์ หลังจากประเทศเมียนมาได้ประกาศเปิดประเทศ เมืองมัณฑะเลย์ ได้กลายเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยว เพราะมีสถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์มากมาย มีวัดวาอาราม ประกอบกับผู้คนยังยึดมั่นในประเพณีวัฒนธรรมดั้งเดิม จึงเป็นเสน่ห์ที่ดึงดูดให้มีนักท่องเที่ยวมากมายเดินทางมาท่องเที่ยวกัน
การเดินทางมายังมัณฑะเลย์
การเดินทางท่องเที่ยวที่ประเทศเมียนมา สำหรับนักท่องเที่ยวทีี่มีหนังสือเดินทางสัญชาติไทย ถ้าเราเดินทางผ่านทางท่าอากาศยานนานาชาติสนามบินมัณฑะเลย์ ย่างกุ้ง และเนร์ปิดอ จะได้รับการยกเว้นไม่ต้องขอวีซ่าเข้าประเทศเมียนมาแต่อย่างใด และสามารถพำนักอยู่ได้ไม่เกิน 14 วัน
|
เดินทางไปกลับกับสายการบินหางแดง ทุกเที่ยวบินมีแต่รอยยิ้ม |
สำหรับทริปนี้ชะนีแคระเดินทางไปกับสายการบินหางแดงอีกแล้ว เดินทางตรงจากสนามบินดอนเมืองมุ่งหน้าสู่สนามบินนานาชาติมัณฑะเลย์กัน
การแลกเงิน
เมื่อมาถึงที่สนามบินนานาชาติมัณฑะเลย์ สิ่งแรกที่ชะนีแคระทำเป็นอย่างแรกคือจัดการแลกเงินจ๊าด (Ks.)ก่อน โดยชะนีแคระเตรียมเงินดอลล่าร์มาแลกเงินจ๊าดที่นี่ ซึ่งข้อควรระวังก็คือธนบัตรดอลล่าร์ต้องห้ามมีร้อยพับ รอยยับหรือขูดขีดประการใด ไม่งั้นเค้าไม่ค่อยรับแลก ใครที่มีเงินบาทหรือยูโรมาแลกได้ สำหรับเงินบาทนะ 1 บาท แลกได้ประมาณ 35 จ๊าด เดี๋ยวนี้โรงแรม ร้านอาหารใหญ่ๆ หรือค่าเข้าเที่ยวชมสถานที่ท่องเที่ยวในเมียนมาเค้าก็นิยมรับเงินดอลล่าร์กันนะ แต่ชะนีแคระก็ขอแลกเงินจ๊าดไว้ส่วนหนึ่งไว้สำหรับใช้จ่ายซื้อของกินของฝากตามร้านค้าเล็กๆข้างทาง หลังจากแลกเงินเสร็จเราก็เตรียมเดินทางไปโรงแรมกันเลย
การเดินทางเข้าตัวเมือง
สำหรับการเดินทางเข้าตัวเมืองมัณฑะเลย์ เราสามารถเดินทางด้วยแท็กซี่ หรือจะเป็นรถบัสก็ได้ สำหรับสาวลุยๆอย่างชะนีแคระและผองเพื่อนต้องนี่เลยเดินทางด้วยรสบัสเข้าเมืองก็ตกคนละ 4000 จ๊าด หรือ 4 ดอลล่าร์
|
นั่งรถบัสเข้าตัวเมืองมัณฑะเลย์ |
|
อัตราค่าบริการของรถโดยสารเข้าเมือง |
ที่พัก
สำหรับที่พักตลอดทั้งทริปที่ีเมืองมัณฑะเลย์ ชะนีแคระขอแนะนำที่นี่ค่ะ โรงแรม Yadanarbon ตกคืนละพันกว่าบาท รวมอาหารเช้า มีฟรีไวไฟ ซึ่งราคาก็แล้วแต่ช่วงเทศกาล ซึ่งแน่นอนว่าชะนีแคระไม่ได้ค่าโฆษณาแต่อย่างใดค่ะ
|
ตัว lobby ของโรงแรม |
|
ภายในห้องนอน |
|
ห้องน้ำมีอ่างอาบน้ำด้วย |
วันที่ 1 เดินทางสู่มัณฑะเลย์ และเก็บสถานที่ท่องเที่ยวใจกลางเมือง
หลังจากที่เราเช็คอินท์ เก็บข้าวของเสร็จเรียบร้อยก็เป็นเวลาเกือบบ่ายสามโมงเย็นแล้ว เราก็เรียกรถแท็กซี่แถวๆโรงแรมสำหรับพาเที่ยวในเย็นวันนี้กัน ซึ่งตกลงราคาที่ 25000 จ๊าด ซึ่งชะนีแคระเช็คมาคร่าวๆ ราคาอยู่ประมาณนี้ สำหรับพาเที่ยว 5-6 สถานที่ ได้แก่พระราชวังมัณฑะเลย์ วัดชเวนันดอร์ วัดอทุมาชิ วัดกุโสดอร์ วัด Kyauktawgyi Pagoda และก็มหาคีรีแห่งมัณฑะเลย์ เราก็ออกเดินทางไปเที่ยวกันเลยเพื่อไม่ให้เสียเวลา
พระราชวังมัณฑะเลย์ (Mandalay Palace)
|
พระราชวังมัณฑะเลย์ |
พระราชวังมัณฑะเลย์ถูกสร้างขึ้นโดยพระเจ้ามินดง ในสมัยราชวงศ์คองบอง ซึ่งได้ย้ายราชธานีจากเมืองหลวงเดิมจากอมรปุระ และเป็นพระราชวังหลังสุดท้ายของกษัตริธีปอ กษัตริย์องค์สุดท้ายของประเทศเมียนมาก่อนที่พระองค์ และครอบครัวจะถูกเนรเทศไปเมืองรัตนคิรี ประเทศอินเดีย และประเทศเมียนมาได้ตกเป็นประเทศอาณานิคมของอังกฤษอย่างสมบูรณ์
|
พระเจ้ามินดง และพระมเหสี |
โดยพระราชวังมัณฑะเลย์แห่งนี้ถูกสร้างด้วยไม้สักทองทั้งหลังเป็นพระราชวังไม้สักที่งดงามที่สุดในเอเชีย แต่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ถูกทำลายลงด้วยระเบิดจากเครื่องบินในปี คศ. 1945 พระราชวังแห่งนี้ได้รับความเสียหายอย่างหนักจนเกินจะบูรณะ รัฐบาลอังกฤษที่ปกครองเมียนมาในขณะนั้นได้ปล่อยทิ้งให้รกร้าง จวบจนหลังเมียนมาได้รับอิสระภาพจากอังกฤษ และรัฐบาลทหารเมียนมาในขณะนั้นได้ทำการบูรณะพระราชวังมัณฑะเลย์ขึ้นและได้การเป็นแหล่งที่ท่องเที่ยวสำคัญในเมืองมัณฑะเลย์จนถึงปัจจุบัน
|
ตัวพระราชวังและหมู่อาคารต่างๆ
|
|
เหล่าพระราชมณเฑียรต่างๆถูกสร้างด้วยไม้สักทอง |
|
บริเวณภายในพระราชวัง |
|
หอคอยที่พระนางศุภยาลัตสั่งให้ทหารคอยส่องดูกองทัพเรือของอังกฤษที่ผ่านเข้ามาจากปากแม่น้ำอิระวดี
|
|
กษัตริย์ธีปอผู้อ่อนแอ และพระนางศุภยาลัต กษัตริย์และมเหสีองค์สุดท้ายของเมียนมา |
ภายในพระราชวังเองก็ยังมีส่วนที่เป็นพิพิธภัณฑ์ เกี่ยวกับเสื้อผ้าและข้าวของเครื่องประดับของราชวงศ์คองบอง
|
เสื้อผ้าเครื่องประดับของกษัตริย์ในสมัยราชวงศ์คองบอง |
|
รูปปั้นพระเจ้ามินดง
|
เปิดทำการทุกวันตั้งแต่เวลา 09.00 - 17.00 น. สำหรับค่าเข้าชมพระราชวังมัณฑะเลย์ ราคาเข้า 10000 จ๊าดต่อคน ซึ่งเจ้าตั๋วใบนี้เราสามารถใช้แวะชมสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆในเมืองมัณฑะเลย์ เมืองอังวะ และเมืองอมรปุระได้ มีอายุประมาณ 5 วันนับจากวันที่ใช้เข้าสถานที่ท่องเที่ยวแห่งแรก ซึ่งจะใช้ได้แค่สถานที่ละ 1 ครั้งเท่านั้น
วัดชเวนันดอร์ (Shwe Nandaw Monastery)
|
วัดชเวนันดอร์ |
วัดชเวนันดอร์ เป็นพระอารามที่สร้างขึ้นด้วยไม้สักทองทั้งหลัง และก็แกะสลักไม้ด้วยลวดลายศิลปะชาวเมียนมาชั้นสูงถือว่าเป็นสุดยอดสถาปัตยกรรมในเมียนมา แต่เดิมพระอารามหลังนี้จะมีการปิดทองทั้งหลังแต่ปัจจุบันด้านนอกตัวอารามแผ่นทองก็ได้มีการหลุดลอกออกเกือบหมด แต่เราจะเห็นได้ภายในจะมีการปิดทองหลงเหลืออยู่
ส่วนใหญ่ชาวเมียนมาจะเรียกวัดชเวนันดอร์ว่า พระราชมณเฑียรทอง เพราะเดิมเป็นพระราชมณเฑียรของพระเจ้ามินดงตั้งอยู่ในเขตพระราชวัง เป็นที่พระเจ้ามินดงทรงใช้เป็นที่นั่งสมาธิเจริญภาวนา จนกระทั่งพระองค์ทรงพระประชวรและก็ทรงเสด็จสวรรคตที่พระราชมณเฑียรหลังนี้ พอสมัยพระเจ้าธีปอทรงเสด็จขึ้นครองราชย์ ก็ทรงสั่งให้ย้ายพระราชมณเฑียรหลังนี้ออกไปนอกเขตพระราชวังด้วยเพราะเหตุนี้ที่ทำให้พระอารามหลังนี้รอดจากการถูกระเบิดไฟไหม้ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และยังคงอยู่จนถึงทุกวันนี้
|
กฏข้อห้ามในการเช้าชมวัดชเวนันดอร์ |
ส่วนใหญ่กฏการเข้าชมวัดวาอารามภายในเมียนมานั้น นักท่องเที่ยวจะต้องแต่งกายสุภาพเรียบร้อย และที่สำคัญห้ามใส่ถุงเท้าและก็รองเท้า ภายในวัดต้องเดินเท้าเปล่าถ้าใครกลัวเท้าเลอะก็เตรียมทิชชู่เปียกมาด้วยหรือพยายามใส่รองเท้าที่ถอดง่ายๆก็แล้วกัน
|
ภายในตัวพระราชมณเมณเฑียรมีการปิดทองเหลืองอร่ามทั้งหลัง |
|
การแกะสลักไม้ของเมียนมา มีลวดลายวิจิตร |
|
บริเวณใกล้ๆวัดชเวนันดอร์มีร้านค้าขายพวกงานแกะสลักไม้ หุ่นกระบอกเมียนมา |
สำหรับท่านใดที่สนใจเข้าชมวัดชเวนันดอร์เปิดให้บริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 07.30-17.00 น. ชะนีแคระและผองเพื่อนมีตั๋วที่ซื้อมาจากเที่ยววังมัณฑะเลย์แล้วเราก็แค่โชว์ให้เจ้าหน้าที่ตรวจตั๋วเท่านั้นก็สามารถเข้าไปเที่ยวชมได้ สำหรับใครที่ยังไม่ได้ซื้อตั๋วก็ต้องเสียค่าเข้าชมคนละ 10000 จ๊าด และสามารถเก็บตั๋วใบนี้ใช้เที่ยวในสถานที่ต่างๆในเมืองมัณฑะเลย์ เมืองอังวะ และเมืองอมรปุระต่อไปได้เลย
วัดอทุมาชิ (Atumashi Kyaung)
|
วัดอทุมาชิ |
วัดอทุมาชินี้อยู่ใกล้ๆกับวัดชเวนันดอร์ สามารถเดินมาแวะสักการะไหว้พระกันได้ สำหรับประวัติวัดนี้พระเจ้ามินดงทรงโปรดให้สร้างขึ้นเพื่อไว้เก็บรักษาพระคัมภีร์ไตรปิฏกหลวง 4 ฉบับโดยใส่ไว้หีบไม้สักเก็บรักษาไว้ภายในวัด และตัวอาคารพระวิหารก็เป็นงานฉาบด้วยปูนปั้นสไตล์ยุโรปซึ่งแตกต่างจากวัดวาอารามในมัณฑะเลย์ซึ่งจะเป็นงานแกะไม้สลักเป็นส่วนใหญ่ และพระองค์ยังโปรดอุทิศถวายเพชรเม็ดใหญ่ประดิษฐานอยู่บนพระอุณาโลมของพระประธานวัดนี้ และทรงพระราชทานชื่อวัดแห่งนี้ว่า อทุมาชิ ซึ่งภาษาเมียนมาแปลว่า งดงามอย่างไม่มีที่ติ แต่เป็นที่น่าเสียดายที่เพชรบนพระอุณาโลมขององค์พระประธานเม็ดนี้ได้หายไปในช่วงจราจลก่อนอังกฤษจะยึดครองมัณฑะเลย์ ในปีคศ. 1885
|
วัดอทุมาชิ |
และในปี คศ.1890 วัดอทุมาชิได้ถูกไฟไห้มเสียหาย เพิ่งจะได้รับการบรูณะสร้างขึ้นใหม่โดยสร้างแบบจำลองขึ้นมาในปีคศ. 1996 นี่เอง ถ้าท่านใดสนใจแวะเข้าชม ทางวัดเปิดให้บริการตั้งแต่เวลา 07.30 -17.00 น. ไม่ต้องเสียค่าเข้าแต่อย่างใด
วัดกุโสดอร์ (Kuthodaw Pagoda)
|
วัดกุโสดอร์ (Kuthodaw Pagoda) |
วัดกุโสดอร์ สร้างขึ้นในคศ.1857 พร้อมๆกับการสร้างเมืองมัณฑะเลย์ ถูกสร้างโดยพระประสงค์ของพระเจ้ามินดง ให้สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์ของการสังคยานาพระไตรปิฏกครั้งที่ 4 และโปรดให้จารึกพระไตรปิฏก 84000 พระธรรมขันธ์ลงบนแผ่นหินอ่อน 729 แผ่น ซึ่งถือว่าเป็นพระคัมภีร์ไตรปิฏกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก
|
รูปปั้นพระเจ้ามินดง |
|
องค์การยูเนสโก้รับรองให้วัดกุโสดอร์ เป็นมรดกโลก |
|
พระมณฑปที่บรรจุพระไตรปิฏก |
|
พระธรรมขันธ์ที่ถูกจาลึกลงบนแผ่นหินอ่อน |
|
พระประธานที่วัดกุโสดอร์ |
|
พระเจดีย์มหาโลกมารชิน |
พระเจดีย์มหาโลกมารชิน ถูกสร้างโดยจำลองรูปแบบมาจากมหาเจดีย์ชเวสิกองแห่งเมืองพุกามนั่นเอง
|
ควรเดินวนสักการะบูชา 3รอบ |
|
เด็กๆชาวเมียนมาขายแป้งทานาคา อยู่ภายในวัดกุโสดอร์ |
ถ้าท่านใดสนใจแวะเข้าสักการะไหว้พระ ทางวัดเปิดให้บริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 06.00 -21.00 น.
ตอนนี้ได้เวลาเกือบหกโมงเย็นแล้ว เราต้องรีบทำเวลากันนิดเพราะยังเหลือสถานที่เที่ยวอีก
วัด Kyauktawgyi Pagoda
วัด Kyauktawgyi Pagoda เป็นวัดที่อยู่ใกล้กับมหานครคีรีมัณฑะเลย์ เราแวะชมและแวะไหว้พระกันก่อน เพราะพี่คนขับแท็กซี่บอกว่าวัดนี้ศักดิ์สิทธิ์มากให้มาขอพรกับองค์พระประธานเพื่อเป็นสิริมงคลกันนะ
|
ทางเดินเข้าไปสู่ตัววัด มีร้านค้ามากมายขายพวกงานแกะสลักไม้ และของที่ระลึก |
|
ทางเดินเข้าวัดมีประดับไฟสีเขียวด้วย |
|
พระประธานที่เป็นองค์หินอ่อนสีขาว |
|
มีงานรูปปั้นสลักมากมายทีเดียวที่วัดนี้ |
หลังจากชะนีแคระซื้อพวงมาลัยดอกไม้ไหว้พระขอพรเสร็จแล้ว ก็เดินเล่นถ่ายรูปภายในวัดกันสักเล็กน้อย เพราะเราต้องรีบขึ้นมหานครคีรีมัณฑะเลย์กันก่อนที่พระอาทิตย์จะตกดิน
มหานครคีรีมัณฑะเลย์ (Mandalay Hill)
|
มหานครคีรีมัณฑะเลย์ (Mandalay Hill)
|
ปิดท้ายโปรแกรมของวันนี้ที่ Mandalay Hill เดี๋ยวเราจะขึ้นไปถ่ายวิวสวยๆของเมืองมัณฑะเลย์ก่อนที่พระอาทิตย์จะตกดินกัน
|
สิงห์คู่ก่อนทางขึ้นมหานครคีรีมัณฑะเลย์ |
|
มีลิฟต์ขึ้นเขาด้วยนะ หรือใครสะดวกจะเดินกันก็ได้ |
เขามัณฑะเลย์ ตั้งอยู่กลางเมืองมัณฑะเลย์ มีความสูง 236 เมตร ถือว่าเป็นจุดชมวิวที่ดีที่สุดของเมือง เราสามารถมองเห็นวิวเมืองมัณฑะเลย์ทั้งเมืองได้จากบนยอดเขานี้ และมองเห็นไกลถึงลุ่มแม่น้ำอิระวดีเลยทีเดียว จากตำนานในการสร้างเมืองมัณฑะเลย์ กล่าวไว้ว่าก่อนที่พระเจ้ามินดงจะทรงย้ายเมืองหลวงมาจากเมืองอมรปุระก็โปรดให้โหรทำการทำนายพยากรณ์แล้วโหรหลวงก็บอกว่าดินแดนแห่งนี้พระพุทธเจ้าเคยเสด็จมาในกาลก่อน และพระพุทธเจ้ายังเคยทรงพยากรณ์ไว้ว่าดินแดนแห่งนี้พระพุทธศาสนาจะเจริญรุ่งเรือง ดังนั้นพระเจ้ามินดงจึงโปรดให้สร้างเมืองหลวงใหม่ขึ้นที่มัณฑะเลย์
|
วิวเมืองมัณฑะเลย์ |
|
แม่น้ำอิระวดี ก่อนที่พระอาทิตย์จะตกดิน |
บนยอดเขามัณฑะเลย์ยังมีการสร้างพระวิหารซูตองพญา ภายในวิหารจะบรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่ถูกขุดค้นพบที่เมืองคันธารราษฏร์ที่ประเทศอินเดียอีกด้วย นอกจากนี้ภายใต้พระวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปปางค์พยากรณ์ทั้งสี่ทิศตามตำนานการสร้างเมืองมัณฑะเลย์
|
พระพุทธรูปทั้งสี่ทิศ |
|
วิหารตองซูพญา |
|
พระวิหารตองซูพญา |
|
คิดว่าเป็นไหน้ำมนต์เพราะเห็นชาวเมียนมาตักน้ำมาล้างหน้าและก็ดื่มกัน |
เอาเป็นว่าจบโปรแกรมของวันนี้กัน พี่คนขับรถแท็กซี่ก็พาชาวคณะกลับโรงแรม จากนั้นเราก็ออกหาของกินที่ร้านอาหารแถวๆโรงแรมกัน วันนี้เป็นวันหยุดทางศาสนาของคนเมียนมาดังนั้นร้านรวงก็จะปิดกันเร็วกว่าปกติ และผู้คนก็จะไม่ค่อยคึกคักกัน เอาเป็นว่าคืนนี้เราทานอาหารพื้นเมืองสไตล์ชาวเมียนมาแล้วกัน
|
ร้านนี้น่านั่งดูสะอาดดี แต่คนโล่งเลย แต่เนื่องจากขี้เกียจเดินไกลเราลองมาชิมแล้วกัน |
|
เลือกเมนูไก่ และปลา ก็จะเป็นเนื้อสัตว์ผัดกับเครื่องแกง ออกแนวมันๆหน่อยนะตามสไตล์ชาวเมียนมา เสริฟคู่กับน้ำซุปและถั่วผัดกับข้าวสวย เอาเป็นว่ามื้อนี้รสชาติอาหารใช้ได้ พนักงานเสริฟบริการดี ชวนคุยเป็นกันเอง เค้าบอกเราว่าปกติวันนี้ร้านจะปิดสองทุ่มเพราะเป็นวันหยุด แต่เห็นเราอุตส่าห์เข้ามากันเลยต้องอยู่บริการจนกว่าจะกลับ หลังจากกินกันอิ่มชะนีแคระก็รีบกลับเข้าโรงแรมเพื่อพักผ่อนเตรียมลุยต่อกันในวันพรุ่งนี้ |
วันที่ 2
เดี๋ยววันนี้เราจะไปเที่ยวเมืองรอบๆมัณฑะเลย์กัน พี่แท็กซี่มารับเราตั้งแต่ 9.30 น. โดยโปรแกรมวันนี้เราจะไปเที่ยววัดมหากันดายง แวะชมโรงงานทอผ้าโบราณ ชมเมืองซะไกง์ เมืองอังวะ และก็ไปชมสะพานไม้อูเบ็งที่เมืองอมรปุระปิดท้ายกัน โดยราคาที่ตกลงกันไว้ 40000 จ๊าด แต่ชะนีแคระขอต่อเหลือประมาณ 38000 จ๊าด เริ่มต้นด้วยสถานที่ท่องเที่ยวแรกของวัน
วัดมหากันดายง (Mahagandhayon Monestery)
วันนี้เป็นวิทยาลัยสงฆ์ที่ใหญ่และสำคัญที่สุดของเมียนมา เป็นสถานที่ปฏิบัติและรักษาธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด ด้วยวัตรปฏิบัติอันงดงามเป็นระเบียบเรียบร้อยของพระสงฆ์ที่นี่ ชาวเมียนมาส่วนใหญ่จึงนิยมส่งบุตรหลานมาศึกษาพระธรรมวินัยที่วิทยาลัยสงฆ์แห่งนี้จำนวนมาก
|
สามเณรฝึกหัดตัวน้อยเริ่มตั้งแถว |
พี่คนขับแท็กซี่เล่าว่าพระสงฆ์และสามเณรจะเริ่มตั้งขบวนแถวเพื่อรับบิณฑบาตรตั้งแต่เวลา 10.30 น. และเราชาวคณะมาถึงเวลาพอดิบพอดี เกือบจะไม่ทันเก็บภาพความประทับใจเสียแล้ว เพราะวันนี้มีอุบัติเหตุบนถนนเส้นที่ออกเดินทางจากมัณฑะเลย์มาเมืองอมรปุระทำให้รถค่อนข้างติด
|
พระสงฆ์และสามเณรเริ่มตั้งแถวรับบิณฑบาตร |
วิทยาลัยสงฆ์แห่งนี้จะมีพระสงฆ์จำพรรษาราว 1200 รูป โดยทุกวันพระสงฆ์และสามเณรจะมาเข้าแถวรับบิณฑบาตรเพื่อฉันเพล โดยจะมีประชาชน บริษัทห้างร้านมาเป็นเจ้าภาพถวายภัตตาหารเพล และภาพเหล่านี้ก็เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยว ชาวต่างชาติต่างเดินทางมาเพื่อร่วมถ่ายรูป มารอชม บ้างก็ขอร่วมทำบุญด้วยทุกวัน
|
นักท่องเที่ยวต่างมายืนรอดู และถ่ายภาพกันอย่างคึกคัก |
|
วันนี้บริษัทอะไรสักบริษัทมาเป็นเจ้าภาพในการถวายภัตตาหารเพล |
|
เหล่าพระสงฆ์ฉันภัตตาหารด้วยอาการสงบ และเป็นระเบียบ |
สถานที่ต่อไป พี่คนขับพาแวะไปดูโรงงานทอผ้า ที่ยังคงมีการทอผ้าด้วยมืออยู่ ที่นี่จะมีการทอผ้าฝ้าย ผ้าไหม ผ้าโสร่งเมียนมาที่เรียกกันว่าลองยีกัน เค้าว่ากันว่าโสร่งหรือลองยีเนื้อผ้าดีต้องมาจากมัณฑะเลย์
|
สาวเมียนมากำลังขึ้นลายผ้ากันเลย |
|
ผู้ชายเมียนมาก็ทอผ้าได้นะ |
|
หูกทอผ้าแบบโบราณ |
|
คุณลุงกำลังทอผ้าอย่างขะมักเขม้น |
|
เครื่องปั่นฝ้ายแบบโบราณ
ภายในโรงงานมีส่วนที่จัดบูติคนำผลิตภัณฑ์อันได้แก่ผ้าโสร่ง ผ้าฝ้ายมาจัดแสดงและขายกัน
|
ผ้าโสร่งมีหลากหลายลวดลาย และหลากหลายสีสันให้เลือกกันซื้อเป็นของที่ระลึก
ถ้าใครสนใจสามารถแวะชมแวะซื้อสินค้ากันได้นะคะ เช่นเคยค่ะชะนีแคระไม่พลาดซื้อลองยีไปสองผืนซื้อไปฝากคุณพ่อคุณแม่ที่บ้าน ซึ่งราคาก็จะขึ้นอยู่กับลวดลาย ถ้าวิจิตรสวยงามก็จะราคาแพงขึ้น แต่ชะนีแคระซื้อแบบธรรมดาตกผืนละ 8 ดอลล่าร์ หลังจากซื้อสินค้าเสร็จแอบถามพี่คนขับว่าแพงไหม พี่คนขับแอบยิ้มแล้วก็บอกว่าถ้าไปซื้อที่ตลาดอาจจะได้ราคาถูกกว่านี้ อิอิ
|
วิวเมืองซะไกง์ |
เมืองซะไกง์ (Sagaing)
เมืองซะไกง์เคยเป็นเมืองอาณาจักรเล็กๆ ถูกสร้างขึ้นในคศ. ที่ 14 หลังการล่มสลายของอาณาจักรพุกาม ตัวเมืองจะตั้งอยู่ริมฝั่งขวาของแม่น้ำอิระวดี ตกข้ามกับเมืองอังวะ เมืองซะไกง์จะมีวัดวาอารามที่สำคัญในทางพระพุทธศาสนามากมาย เดี๋ยววันนี้พี่คนขับรถแท็กซี่จะพาเราไปเที่ยวเมืองซะไกง์แวะไหว้พระกัน
|
วัด U Ponya shin pagoda |
วัด U Ponya Shin pagoda
วัดนี้ถูกสร้างในปีคศ. 1312 บนยอดเขาสูงสุดของเขาซะไกง์ ซึ่งเราสามารถมองเห็นวิว 360 องศาของเมืองซะไกง์ได้ทั้งเมือง ชะนีแคระแนะนำให้มาถ่ายรูปตอนพระอาทิตย์ตกดินจะสวยมาก
|
พระประธานที่วัด U Ponya pagoda |
พี่แท็กซี่บอกว่าพระพุทธรูปที่วัดนี้ศักดิ์สิทธิ์มาก ให้ซื้อดอกไม้มาขอพรอธิษฐานกันได้ ชาวเมียนมานิยมมากราบไหว้บูชาขอพรกัน
|
เจดีย์ซุนโอปงงาชิน |
|
วิวแม่น้ำอิระวดีสามารถมองเห็นยอดเจดีย์มากมายบนเขาซะไกง์ |
สำหรับใครที่สนใจอยากแวะมาทางวัดเปิดให้เข้าไปไหว้พระฟรี แต่ถ้าจะใช้กล้องถ่ายรูปถ่ายรูปต้องเสียเงิน 300 จ๊าด ถ่ายวีดีโอ 500 จ๊าด
วัดอูมินตง U min Thonze Cave
ชาวไทยเรียกว่าวัด 30 ถ้ำ พี่แท็กซี่เล่าว่าที่เรียกว่าวัด 30 ถ้ำนั้นคือที่มาจากวัดมีการสร้างอาคารที่มีประตูทางเข้า 30 ประตูซึ่งเปรียบเสมือนเป็นถ้ำก่อนเข้าไปไห้วพระพุทธรูป 45 องค์ด้านใน
|
วัด 30 ถ้ำ |
ดูทางขึ้นไปบนวัด 30 ถ้ำ ไม่ใช่ธรรมดา คงต้องมีเสียเหงื่อกันบ้างเล็กน้อยนะคะ ตลอดทางเดินก็จะมีร้านค้า ขายเสื้อผ้า ทานาคา ของที่ระลึกตลอดสองข้างทาง
|
ทางเดินขึ้นไปไหว้พระ |
|
พระพุทธรูป 45 องค์ |
|
วิวบนยอดเขาซะไกง์จากวัด 30 ถ้ำ |
|
วิวเมืองซะไกง์ |
เสร็จจากไหว้พระกันแล้ว ตอนนี้เป็นเวลาบ่ายสองแล้วท้องก็เริ่มร้องแล้วค่ะ พี่คนขับแท็กซี่พาไปทานอาหารกลางวันกันที่ร้าน
Sagaing Hill แต่เนื่องจากชะนีแคระกับชาวคณะหิวจัดพออาหารลงปุ๊บก็จัดการกันเรียบเหลือรอดถ่ายรูปได้แค่จานเดียวจริงๆ
|
บรรยากาศภายในร้านซึ่งส่วนใหญ่ลูกค้าจะเป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ |
|
ไก่ผัดพริกแกงเมียนมา รสชาติอร่อยดีกินกับข้าวสวยร้อนๆ |
|
มาเมียนมาต้องลองเบียร์เมียนมาเดี๋ยวเค้าว่ามาไม่ถึง อิอิ |
หลังจากท้องอิ่มแล้วเราเดินทางกันต่อไปเที่ยวเมืองอังวะ หรือ Inwa กันค่ะ
เมืองอังวะ (Inwa หรือ Ava) เป็นเมืองหลวงเก่าของเมียนมามายาวนานหลายศตวรรษ ตั้งแต่คศ. ที่ 13 -18 โดยเป็นเมืองราชธานีตั้งแต่สมัยราชวงศ์อังวะ ตองอูและราชวงศ์คองบอง ร่วมกว่า 400 ปี เมืองอังวะนั้นได้ผ่านการศึกสงครามสู้รบ ถูกปล้นสะดมเผาทำลาย และถูกฟื้นฟูบูรณะมาแล้วหลายครั้ง จนกระทั่งเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในคศ. ที่18 บ้านเมืองเสียหายอย่างหนักจนถูกทิ้งรกร้าง ในสมัยพระเจ้าปดุงแห่งราชวงศ์คองบองขณะนั้นได้ทรงย้ายเมืองหลวงไปสร้างใหม่ที่เมืองอมรปุระแทน
|
ท่าเรือข้ามฝากไปเมืองอังวะ |
พี่แท็กซี่พาเรามาลงเรือข้ามฝากเพื่อเดินทางไปเมืองอังวะกัน ซึ่งค่าเรือข้ามฝากไปกลับตกคนละ 1200 จ๊าด
|
สองข้างทางริมฝั่งน้ำ |
|
เด็กสาวชาวเมียนมาเข้าแถวรอขายสินค้าของที่ระลึกให้กับนักท่องเที่ยว |
เมื่อเราถึงฝั่งเมืองอังวะก็เจอกับกองทัพเด็กๆชาวเมียนมาต่างมาตั้งแถวรอขายของให้กับนักท่องเที่ยวกันอย่างคึกคัก
|
ถึงเมืองอังวะแล้ว คิวรถม้ากำลังรอนักท่องเที่ยวอยู่ |
สำหรับค่าเข้าเที่ยวชมเมืองอังวะของนักท่องเที่ยวต่างชาติต้องเสียค่าเข้าชมคนละ 10000 จ๊าดแต่เราสามารถใช้ตั๋วใบเดียวกับตั๋วเที่ยวเมืองมัณฑะเลย์ได้เลยนะแค่โชว์ให้เจ้าหน้าที่ดูเท่านั้นว่าเรามีตั๋วแล้ว
|
สำหรับวันนี้ชะนีแคระได้พี่คนขับรถม้าคันนี้ |
วันนี้ชะนีแคระจะนั่งรถม้าเที่ยวเมืองอังวะกัน มีรถม้ามาเข้าคิวรอให้เราใช้บริการอย่างคึกคัก ซึ่งรถม้าหนึ่งคันจะตกคันละ 10000 จ๊าด สามารถนั่งได้สองคน ใช้เวลาเที่ยวชมเมืองอังวะประมาณ 2 ชม.30 นาที และแวะชมจุดท่องเที่ยว 4 จุดด้วยกันนะ ซึ่งเราจ่ายเงินให้กับคนขับรถม้าได้เลยนะ
|
รถม้าพาเราเที่ยวในเมืองอังวะกัน |
|
สาวน้อยเมียนมาพยายามปั่นจักรยานตามมาขายของให้ชะนีแคระกับเพื่อนนับว่ามีความพยายามสูงมาก จนเราต้องยอมซื้อสร้อยข้อมือจากเธอ |
วัดไม้สักบากายะ (Bagaya Monastery)
|
วัดไม้สักบากายะ (Bagaya Monastery)
|
เป็นวัดไม้สักเก่าแก่สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าบาจีดอร์ หรือพระเจ้าจักกายแมงสมัยราชวงศ์คองบอง วัดแห่งนี้มีเสาไม้สักทั้งหมด 267 ต้น แต่ละต้นนี่สูงใหญ่ ภายในตัวอารามมีการแกะสลักลวดลายประณีต วิจิตรบรรจง ไม่ว่าจะเป็นตัวซุ้มประตู หน้าต่าง
|
เจดีย์ 7 ชั้นและเสาไม้สักต้นใหญ่ |
|
พระประธานในวัด |
|
ลวดลายแกะสลักอ่อนช้อย |
เค้าว่ากันว่าสมัยที่กรุงศรีอยุธยาเสียกรุงครั้งที่ 2 ให้แก่เมียนมา กองทัพเมียนมาได้กวาดต้อนเชลยศึกจากอยุธยาเดินเท้านานนับ 1 ปี และตั้งค่ายเชลยศึกโยเดียร์ตั้งรกรากถิ่นฐานแถวๆรอบนอกเมืองมัณฑะเลย์ในปัจจุบัน ดังนั้นเราจึงสันนิษฐานวัดนี้น่าจะใช้แรงงานเชลยศึกช่างฝีมือชาวอยุธยาในการสร้างวัดเพราะดูได้จากลวดลายการแกะสลักที่มีความอ่อนช้อยปราณีตบรรจง และก็มีการแกะสลักรูปพญาครุฑด้วย
วัดดายานาซิมเม (Yanda Hsemee Pagoda)
ปัจจุบันวัดนี้เหลือแต่ซากอิฐปรักหักพัง มีเจดีย์ทรงระฆังคว่ำ เหมือนกับทุกที่ก็จะมีเด็กน้อยชาวเมียนมามารอขายของที่ระลึกให้นักท่องเที่ยวอีกเช่นเคย
|
วัดดายานาซิมเม (Yanda Hsemee Pagoda) |
หอคอยนันมยิน (Palace Tower) ถูกสร้างขึ้นในคศ. 1822 มีความสูงทั้งหมด 27 เมตร ใช้สำหรับให้ทหารส่องดูข้าศึกศัตรู ในปีคศ. 1838 ได้เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่เลยทำให้ตัวฐานของหอคอยทรุดเอียงอย่างที่เห็น นักท่องเที่ยวพากันเรียก หอเอนอังวะ ปัจจุบันทางการเมียนมาได้ห้ามนักท่องเที่ยวขึ้นไปด้านบนของอาคารด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย
|
หอคอยนันมยิน (Palace Tower) |
|
ใกล้ๆกับหอคอยก็จะมีชาวบ้านอังวะมาขายของที่ระลึก |
วัดมหาอ่องมเหย่ป่งสั่น ( Maha Aung Mye Bon Zan Monastery
|
วัด Maha Aung Mye Bon Zan Monastery
|
และเราก็มาถึงจุดที่ 4 สถานที่สุดท้ายของเมืองอังวะแล้วนั่นเอง ตัววัดแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นด้วยอิฐและปูนถูกสร้างขึ้นในคศ.ที่ 1822 ผู้สร้างวัดแห่งนี้ก็คือพระนางเมห์นู พระมเหสีของพระเจ้าบาจีดอร์หรือพระเจ้าจักกายแมงในสมัยราชวงศ์คองบอง (พระนางเป็นยายของพระมเหสีศุภยรัตน) เค้าว่ากันว่าคนเมียนมาในสมัยนั้นไม่มีใครชอบพระนางเมห์นูนัก เพราะพระนางมีชาติกำเนิดอันต่ำต้อยพระนางเป็นแม่ค้าในตลาดเป็นคนมีนิสัยโหดร้ายวาจาเลาะร้าย วันหนึ่งพระเจ้าจักกายแมงไปเดินตลาดก็ได้ตกหลุมรักกับพระนาง และแต่งตั้งให้พระนางเป็นพระมเหสี ในช่วงปลายรัชสมัยของพระเจ้าจักกายแมงทรงเสียพระสติวิปลาส พระนางก็เลยเข้ามาคุมอำนาจทางการเมืองของเมียนมาอย่างเบ็ดเสร็จ และในท้ายที่สุดพระนางก็ถูกประหารชีวิต ซึ่งเค้าว่าวัดแห่งนี้พระนางสร้างให้ชู้รักของพระนางซึ่งเป็นเจ้าอาวาสวัดแห่งนี้นั่นเอง
|
พระเจดีย์สีขาวริมแม่น้ำอิระวดี |
เราใช้เวลาเที่ยวในเมืองอังวะประมาณสองชั่วโมงกว่าก็ต้องรีบนั่งเรือกลับ พี่แท็กซี่รอเราอยู่ที่ท่าเรือจะพาเราย้อนกลับไปเมืองอมรปุระอีกครั้งเพื่อเที่ยวที่สะพานไม้อูเบ็งชมพระอาทิตย์ตกดินกันซึ่งถือเป็นไฮไลท์สำคัญของทริปมัณฑะเลย์เลยทีเดียว เราต้องรีบหน่อยแล้วเพราะตอนนี้ได้เวลาห้าโมงเย็นกว่าๆแล้วนะ
|
สะพานไม้อูเบ็ง |
สะพานไม้อูเบ็ง( U Bein Bridge)
สะพานไม้อูเบ็งตั้งอยู่ทางตอนใต้ห่างจากเมืองมัณฑะเลย์ไปสัก 30 กิโลเมตร สะพานไม้แห่งนี้ถูกสร้างขึ้นในปี 1850 เป็นสะพานไม้สักที่ยาวที่สุดในโลก มีความยาวทั้งหมด 1200 เมตร ใช้เสาทั้งหมดมากว่า 1000 กว่าต้น โดยไม้สักที่นำมาสร้างสะพานแห่งนี้เป็นไม้สักที่เหลือจากการถูกรื้อมาจากพระราชวังเก่าที่ที่เมืองอังวะ ถูกนำมาสร้างสะพานเพื่อไว้ใช้ข้ามฝากไปอีกฝั่งของทะเลสาบตองตะมาน โดยสมัยพระเจ้าปดุงได้โปรดให้ขุนนางนามว่าอูเบ็งมาเป็นคนควบคุมการก่อสร้าง ดังนั้นอูเบ็งจึงกลายเป็นที่มาของชื่อสะพานนั่นเอง
|
ทะเลาสาบตองตะมาน |
ถ้าใครสนใจจะล่องเรือในทะเลสาบตองตะมานเพื่อชมพระอาทิตย์ตกดินก็มีเรือบริการให้แก่นักท่องเที่ยวด้วย
|
สะพานไม้สักที่ยาวที่สุดในโลก |
|
ชาวเมียนมาตกปลาแบบดั้งเดิม |
|
พระอาทิตย์กำลังตกดินที่ทะเลสาบตองตะมาน |
|
ความงามของสะพานไม้อูเบ็งยามพระอาทิตย์ตกดิน |
บริเวณรอบๆทะเลสาบก็จะมีร้านค้าขายของที่ระลึกมากมาย บ้างก็เป็นร้านอาหารเพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวจิบเบียร์เย็นๆแล้วชมพระอาทิตย์ตกดินก็ไม่เลวนะ โดนเฉพาะถ้ามาที่สะพานไม้อูเบ็งแล้วต้องลองสั่งกุ้งแพทอดมาชิมกัน
|
กุ้งแพทอด อาหารยอดนิยม |
|
ร้านค้าขายของที่ระลึก โดยเฉพาะลองยี โสร่งเมียนมานั่นเอง |
หลังจากเดินเล่นสักพักได้เวลาเกือบทุ่มแล้ว พี่แท็กซี่ก็พาเรากลับไปส่งที่โรงแรม สำหรับคืนนี้ชะนีแคระกับเพื่อนตั้งใจว่าเดี๋ยวเราจะทานข้าวเย็นกันที่โรงแรมเลย เพราะทางโรงแรม Yadanarbon มีโชว์หุ่นกระบอกเมียนมาที่เรียกว่า Yoke Thay ด้วย อีกอย่างคือวันนี้เหนื่อยกันมาทั้งวัน ชาวคณะขี้เกียจเดินออกไปหาร้านอาหารข้างนอก เอาเป็นว่าเราเน้นความสะดวกสบายเป็นหลัก
|
อาหารมาแล้ว |
|
ลองดิื่มเบียร์มัณฑะเลย์กันสักหน่อย |
|
นักดนตรีมีการตีระนาดบรรเลงเพลง |
|
นักแสดงโชว์การเชิดหุ่นกระบอกซึ่งเรื่องราวส่วนใหญ่ก็เป็นนิทานชาดก หรือนิยายพื้นบ้าน |
หลังจากชมการแสดงจบชาวคณะแยกย้ายกันพักผ่อนเตรียมตัวเที่ยวต่อในวันพรุ่งนี้
วันที่ 3
วันนี้โปรแกรมเราจะไปเที่ยวที่เมืองมิงกุนในช่วงเช้า และก็เก็บตกสถานที่เที่ยวต่างๆในมัณฑะเลย์ที่เรายังไม่ได้ไปกันในตอนบ่าย พี่แท็กซี่มารอรับตั้งแต่แปดโมงครึ่งเพื่อที่จะพาเราไปส่งที่ท่าเรือเพื่อจะนั่งเรือไปเที่ยวที่เมืองมิงกุนให้ทันเที่ยวเรือในรอบเก้าโมงเช้ากัน สำหรับค่าบริการเรือโดยสารไปกลับคนละ 5000 จ๊าด ซึ่งเจ้าหน้าที่ขายตั๋วจะขอดูพาสปอร์ตด้วยนะ อย่าลืมพกติดตัวไปกันด้วยละ
|
ท่าเรือมีเรือจอดขนส่งรับสินค้าไปขายมากมาย |
ระหว่างกำลังรอเรือชะนีแคระก็เดินเล่นถ่ายรูปดูวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนชาวมัณฑะเลย์รอจนเรือออก
|
หมู่บ้านประมงเล็กๆ |
หลังจากเรือออกแล้วเราก็จะล่องเรือไปตามแม่น้ำอิระวดี ชะนีแคระเอาภาพบรรยากาศสองฝั่งแม่น้ำมาฝาก
|
เรือบรรทุกสินค้าที่ล่องในแม่น้ำอิระวดี |
|
สองแม่ลูกชาวเมียนมาบนเรือโดยสาร |
|
ทาแป้งทานาคาทั้งแม่และลูกเลย |
|
ยิ่งเรือแล่นไปได้สักพักเราก็เห็นเจดีย์มิงกุนอันใหญ่โตอยู่เบื้องหน้า |
เราใช้เวลาในการเดินทางประมาณ 1 ชม.ก็ถึงเมืองมิงกุนกัน ซึ่งเราต้องซื้อตั๋วเข้าเที่ยวเมืองมิงกุนกับเจ้าหน้าที่คนละ 5000 จ๊าด สำหรับใครที่อยากจะนั่งแท็กซี่เกวียนก็ได้ มีบริการให้กับนักท่องเที่ยวตรงบริเวณท่าเรือเลย แต่จากที่ชะนีแคระดูแผนผังเที่ยวที่เมืองมิงกุนแล้ว สถานที่แต่ละที่จะอยู่ใกล้ๆกันเดินเที่ยวทั่วเมืองได้ไม่มีปัญหา
|
แผนผังสถานที่ท่องเที่ยว แต่ละจุดจะอยู่ใกล้ๆกัน |
เจดีย์ (Satowya Pagoda)
วัดนี้จะติดริมฝั่งท่าเรือมิงกุนเลย เริ่มแวะเที่ยวไหว้เจดีย์ Satowya เป็นที่แรก ภายในวัดนี้มีประดิษฐานพระพุทธบาทจำลองด้วย
|
เจดีย์ Satowya |
|
รูปปั้นเหล่าเทวดาบริเวณริมแม่น้ำอิระวดี |
|
สิงห์คู่ |
เจดีย์มิงกุน (Mingun Pagoda) หรือภาษาเมียนมาเรียกว่าเจดีย์ปะโธ่ดอจี ถูกสร้างโดยพระเจ้าปดุงหรือที่ชาวเมียนมาเรียกว่าพระเจ้าบาดอพญา ทรงสั่งให้สร้างขึ้นในคศ.ที่ 1790 หมายว่าจะให้เป็นเจดีย์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งในขณะก่อสร้างนั้นโหรหลวงได้ทำนายว่าหากสร้างเจดีย์สำเร็จบ้านเมืองก็จะพบกับความล่มสลาย พินาศย่อยยับ แต่สร้างไปเพียงแค่ฐานเจดีย์ พระเจ้าปดุงก็เกิดพระประชวรและสวรรคตเสียก่อน การสร้างเจดีย์มิงกุนก็เลยต้องหยุดลง เหลือไว้เพียงแต่ซากกองอิฐอันใหญ่โตอย่างที่เห็น
|
เจดีย์มิงกุน |
ซึ่งจากแบบจำลองเจดีย์มิงกุนถ้าสร้างสำเร็จจะมีขนาดสูงถึง 153 เมตร แต่สร้างเสร็จเพียงแค่ฐานขนาดความสูง 50 เมตรเท่านนั้น ไม่อยากจินตนาการเลยว่าถ้าหากเจดีย์นี้สร้างสำเร็จจริงจะมีขนาดใหญ่โตขนาดไหน
|
เราเห็นร่องรอยความเสียหายอย่างหนักจากแผ่นดินไหว |
ในปีคศ.1838 ได้เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในเมียนมา ทำให้ฐานเจดีย์มิงกุนเกิดรอยร้าว และเสียหายอย่างรุนแรง
|
ทางขึ้นเดินไปสำรวจด้านบนเจดีย์มิงกุน |
ชะนีแคระกับเพื่อนก็ค่อยๆขี้นบันไดไปชมวิวด้านบนเจดีย์ แต่ต้องระวังนิดนึงเพราะบันไดมันชันมาก และบางช่วงที่ต้องไต่ขึ้นอย่างยากลำบากเพราะมีช่วงบันไดบางส่วนพังเสียหายจากเหตุแผ่นดินไหว ถ้าใครกลัวความสูงกับไขข้อเข่าไม่ดีก็อาจจะต้องถ่ายรูปไหว้พระอยู่แค่ด้านล่างเท่านั้น ที่สำคัญต้องถอดรองเท้าเดินเท้าเปล่าขึ้นไปชมวิวนะ
|
วิวมุมนี้เห็นเจดีย์ Hsinbyume อยู่ใกล้ๆ |
|
เราเห็นบั้นท้ายของราชสีห์คู่อยู่ติดริมแม่น้ำอิระวดี |
เนื่องจากแผ่นดินไหวครั้งใหญ่จึงทำให้สิงห์คู่เสียหายอย่างหนักเหลือเพียงแต่ส่วนบั้นท้ายเท่านั้น ส่วนหัวนั้นได้พังทลายลงมา
|
สิงห์เหลือเพียงแต่บั้นท้ายในปัจจุบัน |
ระฆังมิงกุน (Mingun Bell) ใกล้ๆกับเจดีย์มิงกุน เราแวะไปชมระฆังมิงกุนกัน
|
ระฆังมิงกุน |
พระเจ้าปดุงโปรดให้สร้างระฆังใบใหญ่ที่สุดในโลก (ที่สามารถตีได้) โดยมีขนาดกว้าง 4 เมตร สูงถึง 5 เมตร เพื่อเอาไปประดิษฐานในเจดีย์มิงกุน
|
ระฆังมิงกุนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก |
|
ยายขายถั่ว และเมล็ดธัญพืชหน้าระฆังมิงกุน ใครสนใจช่วยอุดหนุนได้ |
เจดีย์ซินพิวเม (Hsinbyume Pagoda) หรือจะเรียกว่าทัชมาฮาลแห่งลุ่มแม่น้ำอิระวดี เจดีย์ซินพิวเมถูกสร้างขึ้นในคศ. 1816 โดยพระเจ้าบาจีดอร์ (พระราชนัดดาของพระเจ้าปดุง)สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งความรักให้แก่พระมเหสีซินพิวเม พระมเหสีคนแรกทีี่ถึงแก่พิราลัยก่อนวัยอันควร
|
เจดีย์ซินพิวเม |
การสร้างเจดีย์ซินพิวเม สร้างตามคติจักรวาลหรือไตรภูมิจักรวาลโดยมีเจดีย์อยู่ตรงกลางเป็นเหมือนภููเขาพระสุเมรุที่ล้อมรอบไปด้วยมหาสมุทร
|
สร้างตามคติจักรวาล |
|
ทางขึ้นไปไหว้พระด้านบนเจดีย์ |
|
ด้านบนเจดีย์ซินพิวเมเราสามารถมองเห็นเจดีย์มิงกุนด้วยนะ |
หลังจากลงมาจากเจดีย์ซินพิวเมเป็นเวลาเกือบเที่ยงวัน เราต้องกลับไปขึ้นเรือกลับมัณฑะเลย์ตอนบ่ายโมงตรง ดั้งนั้นชะนีแคระกับผองเพื่อนมีเวลาเดินเล่นชิวชิวในเมืองมิงกุนเกือบ 1 ชั่วโมงเราจึงเดินทอดน่องเก็บภาพบรรยากาศวิถีชีวิตผู้คนในเมืองกัน
|
มีขายผลไม้ดองต่างๆ และก็น่าจะมีส้มตำเมียนมาด้วย |
|
ยาสูบเมียนมา |
|
ผลไม้ ของดองและส้มตำเมียนมามีขายหลายเจ้าเลย |
|
มีแท็กซี่เกวียนใช้วัวลากให้บริการ |
หลังจากได้เวลาบ่ายโมงเราก็ขึ้นเรือกลับเข้าเมืองมัณฑะเลย์ โดยพี่แท็กซี่มารอรับเราตอนบ่ายสองโมงตามจุดนัดพบคือตรงที่พี่เค้ามาส่งเราที่ท่าเรือตอนเช้านั่นเอง ตอนนี้ชะนีแคระและเพื่อนหิวแล้วพี่คนขับพาไปทานอาหารกลางวันกันแวะชิมที่ร้าน
Emerald Green restaurant
|
Emerald Green restaurant
|
|
หมูผัดพริกเผาใส่เห็ด |
|
ผัดผักรวมมิตร |
เราสั่งอาหารง่ายๆ ทานกับข้าวสวยร้อนๆ หลังจากท้องอิ่ม ชะนีแคระกับเพื่อนก็ลุยเที่ยวกันต่อ กับสถานที่ต่อไป
|
วัดชเวอินบิน |
วัดชเวอินบิน (Shwe in Bin Monastery)
วัดนี้ถูกสร้างขึ้นในคศ. ที่ 1895 ตามประวัติการสร้างยังคงเป็นที่สงสัยกันอยู่แต่สันนิษฐานว่าคหบดีชาวเมียนมาเป็นผู้สร้างขึ้น ภายในตัววัดนี้มีการแกะสลักไม้ด้วยสถาปัตยกรรมเมียนมามีลวดลายที่วิจิตรบรรจง สวยงามยิ่งหากใครมีโอกาสก็อย่าลืมแวะมาชมกันได้นะ
|
งานแกะสลักไม้แบบเมียนมา |
|
การแกะสลักไม้ด้วยลวดลายวิจิตร บรรจง |
|
พระประธานในวัด |
หลังจากเดินเล่น และชมความงามของวัดชเวอินบินเสร็จแล้ว พี่คนขับแท็กซี่พาเรามาชม การแกะสลักไม้ลวดลายแบบเมียนมากัน
อองนาน (Aung Nan) หากใครที่สนใจอยากชมการแกะสลักไม้ด้วยลวดลายแบบเมียนมา และหาซื้อของที่ระลึกติดไม้ติดมือกลับบ้านก็ลองแวะมาชมกันได้
|
ร้านอองนาน |
|
พี่หม่องกำลังแกะสลักไม้อย่างขมักเขม้น |
|
งานแกะสลักเสร็จเรียบร้อยเตรียมทำการลงรักปิดทองเป็นขั้นตอนต่อไป |
|
คุณลุงกำลังลงรักอย่างประณีต |
|
หลังจากลงรักเสร็จก็นำงานแกะสลักมาปิดทองคำเปลว |
|
สินค้าภายในร้านไม่ว่าจะเป็นหุ่นกระบอก บานประตู หน้าต่าง รูปปั้น พระพุทธรูปที่เป็นงานแกะสลักไม้ลวดลายมีมากมายหลากหลายให้นักท่องเที่ยวเลือกซื้อเป็นของฝากกัน |
หลังจากแวะชมสักพักเราก็ไปเที่ยวกันต่อไฮไลท์สำคัญของการมาเที่ยวเมืองมัณฑะเลย์ต้องห้ามพลาดแวะมานมัสการไหว้พระมหามัยมุนีกัน
พระมหามัยมุนี(Mahamuni Pagoda)
|
พระมหามัยมุนี |
พระมหามัยมุนี เป็นหนึ่งในห้าสิ่งศาสนสถานที่สำคัญ และเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของชาวเมียนมาในปัจจุบัน ท่านเป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องกษัตริย์ แต่เดิมพระมหามัยมุนีประดิษฐานที่เมืองยะไข่ โดยตำนานเล่าขานว่ากษัตริย์ยะไข่ ก่อนสร้างนั้นพระองค์ได้ทรงพระสุบินว่า พระพุทธเจ้าเสด็จมาประทานพรให้พระพุทธรูปองค์นี้เป็นตัวแทนของพระองค์เพื่อสืบทอดพระพุทธศาสนาให้ยืนยาวไปภายภาคหน้า พระพุทธรูปองค์นี้จึงศักดิสิทธิ์เป็นที่ศรัทธาของชาวยะไข่ ถึงแม้ว่ากองทัพเมียนมาจะทำการตีเมืองยะไข่เป็นเวลาหลายครั้งแต่ก็ไม่สามารถตีเมืองยะไข่ได้สำเร็จ จนกระทั่งถึงสมัยพระเจ้าปดุงกษัตริย์แห่งราชวงศ์คองบองได้ทำการตียะไข่ได้สำเร็จอย่างราบคาบ พระองค์จึงได้ทำการอันเชิญพระมหามัยมุนีมาประดิษฐานที่เมืองมัณฑะเลย์ตราบจนปัจจุบัน
|
ทางเข้าวัดเพื่อไปนมัสการพระมหามัยมุนี |
ด้วยความเชื่อที่ว่าพระมหามัยมุนีเป็นพระพุทธรูปที่ีมีชีวิต เพราะได้รับประทานลมหายใจจากพระพุทธเจ้า จึงต้องมีพิธีล้างพระพักตร์ถวายทุกเช้าโดยพิธีจะเริ่มต้นตั้งแต่ 04.00 น. ของทุกวัน เจ้าอาวาสที่เป็นพระมหาเถระจะทำพิธีล้างพระพักตร์ด้วยน้ำอบผสมทานาคาอย่างดี และก็ใช้แปรงทองแปรงที่พระโอษฐ์เสมือนหนึ่งแปรงพระทนต์ถวายพระพุทธเจ้า จากนั้นก็จะทำการเช็ดพระพักตร์จนแห้งสนิท น่าเสียดายที่ชะนีแคระและเพื่อนตื่นตั้งแต่ตี 4 ไม่ไหวก็เลยต้องพลาดพิธีล้างพระพักตร์ในช่วงเช้าไป
|
การปิดทองคำเปลวที่องค์พระมหามัยมุนีอนุญาตเฉพาะผู้ชายเท่านั้น ผู้หญิงไม่สามารถเข้าไปได้ |
พระมหามัยมุนีมีชื่อเรียกอีกนามหนึ่งว่า
พระเนื้อนิ่ม เหตุเพราะเนื่องจากประชาชนผู้ศรัทธานำทองคำเปลวมาติดที่ตัวพระองค์ทับซ้อนไปซ้อนมาเป็นพันๆ หมื่นๆ ชั้นมานานนับศตวรรษ จนทำให้ตัวพระพุทธรูปเป็นรอยตะปุ่มตะปั่มไปทั่วทั้งองค์ จนถ้าหากเราเอานิ้วกดลงไปจะรู้สึกได้ถึงความอ่อนนิ่มของคำเปลวนั่นเอง
|
ได้มีการถ่ายรูปเปรียบเทียบให้เห็นพระมหามัยมุนีในอดีต และปัจจุบัน |
|
มีประชาชนชาวเมียนมาเดินทางมาสักการะพระมหามัยมุนีด้วยความศรัทธาตั้งแต่เช้ายันเย็น |
ชะนีแคระแนะนำว่าถ้าใครเดินทางมามัณฑะเลย์ ก็ห้ามพลาดแวะมาไหว้ขอพรกับพระมหามัยมุนีกัน ซึ่งทางรัฐบาลเมียนมาเปิดให้เข้าฟรี แต่อาจจะมีบางส่วนปิดตั้งแต่เวลา 15.30 น. สำหรับใครที่จะถ่ายรูปภายในวัดต้องเสียค่าถ่ายรูป 2000 จ๊าด
|
King Galon Gold Leaf Workshop |
King Galon Gold Leaf Workshop
เราแวะมาดูการทำทองคำเปลวทีี่ไว้ใช้ปิดทองพระพุทธรูป หรือลงรักปิดทองงานฝีมือต่างๆกัน ซึ่งที่นี่มีการแสดงให้เห็นทุกขั้นตอนในการผลิตทองคำเปลวแท้ 100 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งแต่ละขั้นตอนก็ยังใช้แรงงานฝีมือจากช่างผู้ชำนาญชาวเมียนมา
|
การตีแผ่นทองคำเปลวให้บาง |
|
แผ่นทองคำหลังจากผ่านการตีให้บางเฉียบ |
|
นำแผ่นทองคำเปลวที่ผ่านการตีบางๆแล้วนำมาตัดเป็นแผ่นเล็กๆใช้ในการทำเป็นทองคำเปลวติดองค์พระพุทธรูป ซึ่งต้องใช้ฝีมือและความชำนาญอย่างมาก คุณป้าๆตัดกันอย่างรวดเร็วมาก |
|
ผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการปิดทองมาจัดแสดงและขายให้เป็นของที่ระลึกกับนักท่องเที่ยว |
สำหรับตอนนี้ได้เวลาสี่โมงเย็นกว่า โปรแกรมกับพี่แท็กซี่ก็หมดลง พี่แท็กซี่พาเรากลับไปส่งที่โรงแรม หลังจากนั่งพักหายเหนื่อยแล้ว ชะนีแคระกับเพื่อนก็ตัดสินใจออกไปเดินเล่นที่ตลาด และห้างไดมอนกัน เพราะเรามีเวลาเหลืออยู่ และเดินไม่ไกลจากโรงแรมมากนัก
ห้าง Diamond Plaza
|
ห้าง Diamond Plaza |
เป็นห้างที่ใหญ่ และทันสมัยที่สุดในมัณฑะเลย์เลยทีเดียว ชะนีแคระเดินเล่นเก็บภาพบรรยากาศมาฝากกันค่ะ
|
ภายในห้าง Diamond Plaza |
|
ย่านถนนธุรกิจของเมืองมัณฑะเลย์ คล้ายๆถนนสุขุมวิทบ้านเรา |
หลังจากเดินเล่นสักพักเราลองแวะไปเที่ยวตลาดเย็นกันบ้างนะ ชะนีแคระไม่พลาดอีกเช่นเคยเก็บภาพวิถีชีวิตชาวมัณฑะเลย์มาฝากกันค่ะ